หอการค้าเชียงใหม่ ปลื้มภาวะเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ครึ่งแรกปี 2561 ปรับตัวดีขึ้น คาดครึ่งปีหลังยังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยบวกหลายด้าน





หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ครึ่งปีแรก ปี 2561 พบว่ามีการปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยบวกหลายด้าน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังครองแชมป์ขยายตัวดี คาดครึ่งปีหลังยังมีแรงบวกส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง เน้นด้านการท่องเที่ยว การเกษตรและการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมย้ำทุกฝ่ายให้ร่วมมือกันผลักดันให้เศรษฐกิจเชียงใหม่คึกคักขึ้น



เชียงใหม่ - 25 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ประจำครึ่งปีแรกของปี 2561 พบว่า ภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาส 1และไตรมาส 2 ปี 2561 ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี และพยุงการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นบ้าง เนื่องจากกำลังซื้อภาคชาวบ้านยังไม่เข้มแข็งจากราคาพืชผลที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำและภาระหนี้สินของเกษตรกร การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวในบางสาขา เช่น ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้าที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างประเทศดูดซับบ้านและคอนโดมิเนียมคงเหลือให้ลดลง ทำให้เริ่มมีสัญญาณลงทุนในโครงการบ้านจัดสรรขนาดเล็กและคอนโดมิเนียม คาดว่าจะดำเนินการในช่วงปลายปีนี้ต่อปีหน้า การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวยังมีต่อเนื่องทั้งในส่วนของการลงทุนใหม่และปรับปรุงโรงแรมเดิม เสถียรภาพเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานลดลงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ



รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ มีดังนี้
ผลผลิตพืชผล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เช่น ข้าว ลำไย กระเทียม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ราคาพืชผลลดลงจากปีก่อน สำหรับราคาสุกรลดลงถึงร้อยละ 16.5 ตามราคาตลาดโลกที่ลดลง ทาให้ผู้เลี้ยงขาดแรงจูงใจลดจำนวนเลี้ยงลง ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงร้อยละ 3.5 จากราคาพืชผลและปศุสัตว์ที่ลดลงมาก ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ประกอบกับเกษตรกรมีหนี้สินในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงเล็กน้อย

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งสองไตรมาส พิจารณาจากตัวชี้วัด เช่น การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและดัชนียอดขายภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้อุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังขยายตัวจากวัตถุดิบที่เอื้ออำนวยและความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมสุขภาพขยายตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศเช่นกัน



ภาคท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่องทั้งสองไตรมาส แม้ว่าผู้ประกอบการเกสเฮ้าส์อยู่ในช่วงจัดระเบียบ แต่นักท่องเที่ยวโดยรวมยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง พิจารณาจากเครื่องชี้จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 1 และ 2 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 8.7 และร้อยละ 10.1 ตามลำดับ ในส่วนผู้โดยสารเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศสู่เชียงใหม่ไตรมาสที่ 1 และ 2 เพิ่มสูงถึงร้อยละ 16.7 และร้อยละ 13.3 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 67 เป็นนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับตลาดการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น ทาให้ธุรกิจต่อเนื่องยังขยายตัวดี ทั้งนี้เหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่



การลงทุนภาคเอกชน โดยรวมยังไม่พื้นตัว สะท้อนจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ไตรมาสที่ 1 และ ไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ แต่ปรับตัวดีขึ้นมากโดยเฉพาะในส่วนของการ ก่อสร้าง เนื่องจากมีความต้องการซื้อบ้านและคอนโดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากลูกค้าที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างประเทศ ช่วยดูดซับอุปทานคงเหลือให้ลดลง ทำให้เริ่มมีการลงทุนโครงการบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กและคอนโดมิเนียม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการช่วงปลายปี ส่วนการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวยังมีต่อเนื่องทั้งในส่วนของการสร้างและปรับปรุงโรงแรม



การบริโภคภาคเอกชน อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวจากปีก่อน การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้ากลุ่มขายปลีกไปได้ดี เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคชาวบ้านยัง ไม่เข้มแข็ง สาหรับการบริโภคสินค้าคงทน เช่น การใช้จ่ายเพื่อซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวจากการส่งเสริมการ ขายและเงื่อนไขการผ่อนชำระจูงใจ แต่เริ่มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 สาหรับรถจักรยานยนต์หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ ปลายปีก่อนเป็นลำดับ โดยไตรมาสที่ 1 และ 2 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ

การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังขยายตัว แต่การเบิกจ่ายส่วนที่ไม่นับรวม เงินเดือนทั้งไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 (ปีปฏิทิน) ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.1 และร้อยละ 6.8 ตามลาดับ ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 2 ถึงร้อยละ 19.4 เทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำจนถึงลดลง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปใช้ พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เบิกจ่ายเงินได้ช้า



การค้าผ่านด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ มูลค่าส่งออกไตรมาสที่ 1 และ 2 ลดลงจากระยะเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 12.7 และร้อยละ 22.1 เหลือ 3.721.5 ล้านบาท และ 3,586.1 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจากการนำสินค้าไปส่งออกที่ท่าเรือ สำหรับสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งไตรมาส 1 และ 2 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 5.5 เป็น 1,856.6 ล้านบาท และ 2,185.5 ล้านบาท ตามลำดับ

เสถียรภาพเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 0.3 เล็กน้อย สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เร่งตัวขึ้นมากใน ไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.2 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 สาเหตุจากราคาน้ำมันขายปลีกสูงขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากคือร้อยละ 0.4 เทียบกับร้อยละ 0.5 ไตรมาสที่ 1 และ ร้อยละ 0.9 ไตรมาสที่ 2 ปี ก่อน

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 สาขาธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดเชียงใหม่มียอดคงค้างเงินให้ สินเชื่อ 183.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 สินเชื่อจังหวัดเชียงใหม่ขยายตัวได้สูงกว่า เฉลี่ยของภาคเหนือ โดยสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการผลิตและ สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อค้าปลีกค้าส่งทรงตัว ส่วนสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หดตัว ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 243.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.3 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 75.3

ทั้งนี้ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ในส่วนของการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเชียงใหม่ครึ่งปีหลัง ขณะนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกหอการค้าฯ ทำการมอนิเตอร์ในการทำโฟกัสกรุ๊ป และประเมินโดยใช้เครื่องมือทางตัวเลข ผลก็จะออกมาทางวิชาการที่จับตัวเลขหลักๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่เป็นหลักคือด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การค้า อสังหาริมทรัพย์ การลงทุน  และอีกส่วนเป็นการวิเคราะห์เสริม ซึ่งขอสรุปเป็นสาระสำคัญ ได้แก่

ด้านการท่องเที่ยวคาดว่าการท่องเที่ยวยังไปได้ดี   แม้ว่าจะมีปัญหาเรือล่มที่ภูเก็ต แต่ที่ทางหอการค้าได้วิเคราะห์ก็พบว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเชียงใหม่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว  นักท่องเที่ยวจีนยังเข้ามาตามปกติ และการเอาใจใส่และการดูแลของทางการ ก็ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว   หอการค้าฯ คิดว่าเมื่อถึงสิ้นปีคิดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะขยับแตะที่ 11 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ซึ่งตัวเลขที่ยืนยันได้ว่า นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ไม่ได้ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้วแต่อย่างใด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนมากกว่า 1 แสนล้านบาท

ประเด็นที่หอการค้าฯ ให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนมี 2 ด้านที่ต้องมองด้านโอกาสและผลกระทบ ซึ่งจากทีมที่ปรึกษาของหอการค้าฯ ได้สรุปว่า นอกจากนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ยังมีกลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก ๆ คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งหรือโลจิสติกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งด้านการท่องเที่ยวเราไม่อยากให้เกิดเช่นเดียวกับภูเก็ตที่ทุนเข้ามาครอบงำทั้งซัพพลายเชนแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์กับธุรกิจในพื้นที่เลย ทั้ง ทัวร์ ร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้กระทั่งของที่ระลึก กระทั่งการขนส่งสินค้าของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมซื้อของฝากของที่ระลึกจากเชียงใหม่ส่งกลับไปยังจีน ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่หอการค้าฯ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และยิ่งเป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าเกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
จากผลการวิจัยของบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้ระบุว่าจำนวนลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ พบว่า 60% และคาดว่าปีนี้สัดส่วนจะขยับมากขึ้นถึง 70% เป็นกลุ่มลูกค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ 20% คือกลุ่มลูกค้าในย่านเอเชียประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะฮ่องกงและเกาหลี อีก 20% เป็นชาติยุโรปและอเมริกาในสัดส่วนโควตาชาวต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ได้ 49% เนื่องจากคนจีนมองเห็นโอกาสในการลงทุน รวมไปถึงมีการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนต่อในไทยที่ จ.เชียงใหม่ มากขึ้นด้วย รูปแบบการซื้อจึงซื้อไว้เพื่อการลงทุน รวมไปถึงเป็นที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณ สอดคล้องกับสถิติสายการบินประจำที่ทำการบินตรงจากเชียงใหม่ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และเขตปกครองพิเศษของจีนอีก 15 สายการบินใน 14 เส้นทาง  36 เที่ยวบิน/วัน หรือเฉลี่ยวันละ 6,000 คน ซึ่งเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากจีนเดินทางมายังเชียงใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคน คาดว่าภายในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่กว่า 2 ล้านคน เรียกได้ว่าอนาคตเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่เป็นบ้านหลังที่สองของจีนก็ว่าได้  ในทางกลับกันหอการค้าฯ ก็มองโอกาสทางด้านการค้าฯ การผลิตสินค้าทีตรงกับความต้องการโดยเฉพาะด้านผลไม้ สินค้าหัตถกรรมเป็นต้นที่หอการค้าฯ ก็กำลังผลักดันให้เชียงใหม่เป็น Market Place ที่จะส่งสินค้า Cross border Ecmmerce

ด้านสินค้าการเกษตรถือว่ามีแนวโน้มที่ดี และจะสามารถสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ สภาพดินฟ้าอากาศที่ดี  จะช่วยให้ผลผลิตพืชผลไม่เสียหาย  ช่วยรายได้ของภาคเกษตรได้ส่วนหนึ่ง  แต่ในส่วนของราคาพืชผลก็ขอให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรได้ราคาพืชผลดีที่สุด และก็จะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการซื้ออุปกรณ์การเกษตร หรือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการประเมินว่า น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะสต๊อกบ้าน/คอนโดก็ลดลงไปพอสมควร  ก็เริ่มเห็นผู้ประกอบการขยับตัวลงทุนใหม่ ๆ ในบ้าน/คอนโดซึ่งเราจะเห็นในช่วงครึ่งหลังของปีหรือต้นปีหน้า   ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ดีขึ้นเพราะที่สำคัญ สัญญาการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น ได้แก่โครงการขยายสนามบินเชียงใหม่เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว 18 ล้านคนในปี 2568 โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการมอเตอร์เวย์ เชื่อมเชียงใหม่-เชียงราย รวมถึงโครงการลงทุนด้านขนส่งมวลชนในพื้นที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน และบนดิน โดยความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยหอการค้าฯ จะได้นำเสนอประเด็นด้านลงทุนทุกด้านให้รัฐบาลได้เร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งน่าจะนำเสนอในการประชุม ครม.สัญจรที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดลำปางในเร็ว ๆ นี้ด้วย
สำหรับ ความท้าทายด้านต่างๆ ขณะนี้หอการค้าฯ ได้ร่วมกับ กกร. เร่งรัดผลักดันโครงการใหญ่ ๆ ให้เป็นรูปธรรมและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนต่อเนื่อง รวมถึงด้านการค้าชายแดนที่ด่านหลักแต่ง อ.เวียงแหง ที่จะเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าเศษฐกิจในพื้นที่ในอนาคตและจะเป็นการเปิดช่องทางเศรษฐกิจเชื่อมกับพม่า และอินเดียในอนาคตด้วย

ราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และปัจจัยการผลิต ส่วนด้านการตลาดหอการค้าฯ จะเร่งสนับสนุนด้านการแปรรูป ต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานด้านฮาลาล การต่อยอดสินค้าเกษตรในพื้นที่สู่ออแกนนิกส์ เป็นต้น

ส่วนปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนก็เหมือนกับเชือกที่ดึงขาไม่ให้เศรษฐกิจฟื้น  วิธีที่ดีที่สุดคือช่วยด้านราคาหาช่องทางขายใหม่ ๆ เช่น  e-commerce cross border  เพื่อให้ราคาสูงขึ้น เติมด้านปลายทางด้านการตลาด โดยสรุปคาดว่าเศรษฐกิจเชียงใหม่ในครึ่งหลังของปียังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การเกษตรและการลงทุน และทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสู้กับความท้าทาย เพื่อให้เศรษฐกิจเชียงใหม่คึกคักให้ได้ และคาดว่าเศรษฐกิจในปีหน้าก็จะกระเตื้องขึ้นโดยมีปัจจัยด้านการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

องค์กรพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน จับมือสร้างสรรค์โครงการต้นแบบ​ ลำพูน​ สุขก๋าย​ สบายใจ๋ (Lamphun​ Healing​ Town)​ พัฒนาพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจเมืองเก่าลำพูน

เปิดตัวโครงการ “เยาวชนวัฒนธรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว” ส่งเสริม สร้างสรรค์ เยาวชนให้ได้แสดงความสามารถ และศักยภาพตามความสนใจ ต่อยอดให้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ

วอลโว่ฉลองครบ 50 ปีในไทย มุ่งก้าวสู่การจำหน่ายเฉพาะรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบในปี 2025